ทำไมบางครั้งคุณรู้สึกเหมือนว่า ความอยากอาหาร เปลี่ยนได้ง่ายยิ่งกว่าสภาพอากาศเสียอีก วันหนึ่งอุตส่าห์ตั้งหน้าตั้งตากินคลีน มีโปรตีนเชคอยู่ในมือ แต่อีกวันก็อยากกินพิซซ่าชีสเยิ้มๆ จนต้องแอบเลื่อน Cheat Day ให้มาเร็วกว่าปกติ ตกค่ำยังย่องไปควักไอศกรีมในตู้เย็นมาอีก…แบบนี้จะจัดโปรแกรมอาหารได้อย่างไร เพราะใจคิดแต่จะอยากออกนอกลู่นอกทางตลอด ที่จริงแล้ว ความอยากอาหาร ของคุณเกิดขึ้นเพราะร่างกาย “อยาก” กินของพวกนั้นจริงหรือ?
การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความอยากอาหารคือการตอบสนองของร่างกายต่อการใช้ชีวิตของคุณ อาหารที่คุณกินบ่งถึงระดับความเครียด อารมณ์ และไลฟ์สไตล์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงความอยากอาหารอาจมาจาก
อะไรที่ทำให้ ความอยากอาหาร เปลี่ยนแปลง

- ช่วงเวลาของการรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล
- กิจกรรมในวันนั้นๆ
- อาการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อ
- ความเครียด ความวิตกกังวล และอารมณ์
- อาการซึมเศร้า
- ผลข้างเคียงของยา
- การมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์
ฝึกความอยากอาหารให้มั่นคงได้อย่างไร

สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงคือ “ความสมดุลของโปรแกรมอาหาร” ที่คุณรับประทานเข้าไปในแต่ละวัน เพราะโดยปกติแล้วความอยากอาหารแบบจำเพาะเจาะจงมักบ่งชี้ว่าร่างกายกำลังขาดสิ่งนั้น ดังนั้นการกระจายความหลากหลายของอาหารให้ครบ 5 หมู่ จะช่วยให้ร่างกายของคุณอยู่ในสภาวะ “อิ่ม” จริงๆ ซึ่งอิ่มทั้งสารที่ได้รับไม่เพียงแต่อิ่มท้อง และจะลดปัญหาการกินจุกจิกได้ด้วย
จากนั้นเมื่อตรวจสอบว่าคุณรับประทานอาหารได้ครบเพียงพอแล้ว หากมีอาการหิวระหว่างมื้อ ควรต้องพิจารณาว่าคุณหิวจริงๆ หรือแค่อยาก ลองดื่มน้ำเปล่าลงไปสักแก้วแล้วยังมีอาการหิวหรือไม่ เพราะบางครั้งความอยากอาหารและความกระหายก็ทับซ้อนกันได้จนร่างกายสื่อสารออกมาเป็นสัญญาณความหิว
เพื่อป้องกันไม่ให้การเปลี่ยนแปลงความอยากอาหารที่ไม่ต้องการระหว่างมื้อ ควรมุ่งเน้นการรับประทานอาหารที่สมดุลและอาหารว่าง
เมื่อคุณพบว่า ความอยากอาหาร เป็นมากกว่าความหิวโหยทางกาย

คุณมีความต้องการทางจิตใจบางอย่างที่ต้องรับประทานอาหารนั้น และบางครั้งคุณก็ควบคุมไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเครียด เหงา ดีใจ เสียใจ ทุกอย่างล้วนทำให้คุณหิวได้ทั้งสิ้นจนคุณเริ่มกังวลว่าพฤติกรรมนี้นำไปสู่โรคอ้วน อันดับแรกคุณอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตบางอย่าง เช่น ภาวะซึมเศร้า ลองปรึกษาจิตแพทย์แทนที่จะปรึกษานักโภชนาการ
อย่าลืมว่าอาหารเป็นส่วนที่จำเป็นในการมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และความอยากอาหารของคุณก็มีบทบาทสำคัญต่อสิ่งนั้น การมีความรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากเกินไปจนกระทบเป้าหมาย หรือวิถีชีวิตบางอย่างของคุณ ก็ควรอย่าลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ เพราะเรื่องโภชนาการไม่เพียงแต่ส่งผลทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอารมณ์ และจิตใจด้วย การเรียนรู้ที่จะรับมือกับความรู้สึกอันหลากหลาย เป็นเสาหลักที่สำคัญของการดูแลสุขภาพ